Saturday, December 12, 2009

พัดยศเปรียญ ๙ ประโยค





ประวัติการศึกษาบาลี

การศึกษาภาษาบาลีเป็นของโบราณสืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้จึงได้จัดลำดับชั้นเป็นประโยค เรียกว่า ประโยค ๑-๒ ประโยค จนถึงประโยค ๙ เป็นที่สุด เฉพาะผู้ที่สอบได้ประโยค ๑ และ ๒ ยังไม่มีสิทธได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญ และยังไม่เรียกว่าพระมหา ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไปจึงมีสิทธิได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญ และเมื่อได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญแล้ว จึงมีสิทธิที่จะใช้คำนำหน้าว่าพระมหา โดยถือว่าได้รับการทรงแต่งตั้ง

เฉพาะเปรียญ ๙ สอบวิชาอะไรบ้าง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙ ทางการคณะสงฆ์ได้กำหนดวิธีการสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยค จากเดิมที่สอบปากเปล่ามาเป็นสอบแบบข้อเขียน และเพิ่มเป็น ๓ วิชาคือ

-วิชาเขียนไทยเป็นมคธ ออกข้อสอบเป็นภาษาไทยล้วน สุดแต่กรรมการจะกำหนดให้ นักเรียนเขียนตอบเป็นภาษามคธ
-วิชาแปลไทยเป็นมคธ ข้อสอบแปลมาจากภาษามคธเป็นไทย ให้ตอบเป็นภาษามคธ
-วิชาแปลมคธเป็นไทย ออกข้อสอบเป็นภาษามคธ ให้ตอบเป็นภาษาไทย

ทั้งสามวิชานี้ยังคงใช้อยู่ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

รับพัดยศเปรียญ ณ ที่ใด

ในสมัยการสอบด้วยข้อเขียนระยะต้นๆ ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคถึง ๙ ประโยค ยังคงเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดยศเปรียญ และไตรจีวร ในพระบรมมหาราชวัง โดยกำหนดวันที่ ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ หรือก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน เป็นประจำทุกปี เรียกว่า วันทรงตั้งพระเปรียญ พระภิกษุที่สอบได้ประโยค ป.ธ. ๓ แล้ว ถ้ายังไม่ผ่านพ้นวันทรงตั้งพระเปรียญ จะใช้คำนำหน้าชื่อตัวเองว่า พระมหา ยังไม่ได้

เปรียญใดบ้างที่เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดยศเปรียญและไตรจีวร

นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เนื่องจากมีพระภิกษุสามเณรเข้ารับการศึกษาและสอบได้มาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบหมายพระราชภาระการทรงตั้งเปรียญถวายสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ให้ดำเนินการแทนพระองค์ ยกเว้นเฉพาะผู้ที่สอบได้ ป.ธ. ๖ และ ป.ธ. ๙ ยังคงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร พัดยศและไตรจีวร ในพระบรมมหาราชวังดังเดิม และยังคงอุปถัมภ์ให้รถหลวงนำส่งเฉพาะผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๙ มาจนถึงทุกวันนี้

นาคหลวงสายเปรียญธรรมคืออะไร

สามเณรรูปใดสอบได้ ป.ธ ๙ ขณะยังเป็นสามเณร อายุไม่เกิน ๒๑ ปี พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสามเณรรูปนั้นไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เข้าอุปสมบทเป็นนาคหลวงเป็นกรณีพิเศษเรียกว่า นาคหลวงสายเปรียญธรรม

No comments:

Post a Comment

Google